ประวัติ
อำเภอสังขละบุรี เดิมเรียกว่า สังเคลียะ เป็นภาษาพม่า แปลว่า การผสมผสานคนต่างชาติพันธุ์ที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ก่อนที่นี่เป็นเมืองหน้าด่าน มีเขตแดนติดกับประเทศพม่า ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น อำเภอวังกะ และได้เปลี่ยนเป็นอำเภอสังขละบุรีเมื่อปี 2508
สังขละบุรี เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ" เป็นจุดที่แม่น้ำทั้ง 3 สายมาบรรจบกัน คือแม่น้ำซองกาเลีย, แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี ผู้คนต่างพากันมาชื่นชมหมอกที่มาให้เห็นทุกเช้า วิถีชีวิตของชาวมอญที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมถึงวัฒนธรรมสำคัญของชาวมอญ ไม่ว่าจะเป็นพิธิตักบาตรมอญ การแต่งกายแบบชาวมอญ และที่พลาดไม่ได้คือ 'สะพานมอญ' สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก รวมถึงการล่องเรือชมเมืองบาดาล ที่ถือได้ว่าเป็น Unseen Thailand ซึ่งเวลาปกติสะพานไม้นี้จะหนาแน่นไปด้วยผู้คน แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้เราได้รูปเดี่ยวบนสะพานไม้ที่ทอดยาวสุดสายตา เป็นภาพที่หาดูได้ยาก
จุดท่องเที่ยวสำคัญ
'สังขละบุรี' เมืองสายหมอก ดินแดน 3 วัฒนธรรม
สะพานมอญ
สะพานอุตตมานุสรณ์ แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตสำหรับคนที่มาสังขละ สะพานนี้ยาวถึง 850 เมตร เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในไทยและยังเป็นสะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสะพานไม้อูเบ็ง ของประเทศพม่า สร้างขึ้นเพื่อข้ามแม่น้ำซองกาเลียใช้ในการสัญจรไปมาของชาวมอญและชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณนี้
ประวัติสะพานมอญ สะพานนี้สร้างขึ้นโดยหลวงพ่ออุตตมะ หรือพระราชอุดมมงคล เจ้าอาวาสของวัดวังก์วิเวการาม เป็นพระเกจิชื่อดังที่ชาวบ้านให้ความนับถือ เพื่อให้ชาวบ้านใช้เดินทางข้ามแม่น้ำได้สะดวกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะก่อนหน้าที่จะมีสะพานนี้ ชาวบ้านจะข้ามฟากได้ต้องจ่ายเงินครั้งละ 1 บาทแล้วให้คนคอยลากแพที่ต่อขึ้นจากไม้ไผ่ เพื่อใช้สัญจรข้ามไปมา โดยการสร้างสะพานนี้ใช้แรงงานชาวบ้านที่ศรัทธาต่อหลวงพ่ออุตตมะและสมัครใจมาช่วยประมาณ 1,000 คน ใช้เวลาสร้างทั้งหมด 10 ปี เนื่องจากไม่ได้ใช้เครื่องจักรใดๆ สะพานนี้ได้รับการซ่อมแซมดูแลมาโดยตลอด จนในปี 2556 ที่เกิดมรสุมและมีน้ำป่าไหลหลากมาจากทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้สะพานมอญขาดช่วงกลางสะพาน จึงได้รวบรวมคนในชุมชนมาสร้างสะพานลูกบวบเป็นทางข้ามสำรองระหว่างการซ่อมแซมสะพานมอญ จนกระทั่งสะพานมอญซ่อมแซมเสร็จในปี 2557 สะพานบวบก็ยังคงใช้งานได้อยู่ ดังนั้นใครไปเที่ยวจะได้ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมถึงมีสะพานข้ามถึง 2 สะพานอยู่ข้างๆกัน
แม่น้ำซองกาเลีย
ศูนย์รวมชีวิตของชาวมอญ เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีที่แบ่งอำเภอสังขละบุรีออกเป็นสองฝั่ง โดย "ซองกาเลีย" เป็นภาษามอญ แปลว่า "ฝั่งโน้น" มีจุดเริ่มต้นจากลำห้วยโรคี่ในทุ่งใหญ่นเรศวร ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำอีกสองสาย คือ แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี บริเวณสะพานมอญ ณ จุดที่เรียกว่า "สามประสบ"
วัดศรีสุวรรณ (วัดชาวกระเหรี่ยง)
วัดนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุด สร้างโดยพระศรีสุวรรณ เจ้าเมืองสังขละบุรี จนมีการสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ทำให้วัดนี้จมอยู่ใต้น้ำ เราสามารถเดินเยี่ยมชมวัดได้ประมาณช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.ของทุกปี เพราะเป็นช่วงน้ำแล้ง แต่ต้องตรวจสอบช่วงเวลาเดินทางที่แน่นอนอีกครั้ง
วัดวังก์วิเวการามเดิม (วัดชาวมอญ)
หรือที่เรารู้จักกันในชื่อวัดจมน้ำ ที่ท่องเที่ยว Unseen Thailand ที่สามารถมาเที่ยวได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น วัดนี้สร้างขึ้นโดยหลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวมอญ ถ้ามาช่วงน้ำเต็มเขื่อนที่นี่จะเห็นเพียงยอดหอระฆังกับด้านบนของตัวโบสถ์ แต่ถ้ามาช่วงน้ำลดจะสามารถเดินเที่ยวชมได้
วัดสมเด็จเก่า (วัดชาวไทย)
เป็นวัดเดียวในทริปนี้ที่ไม่จมน้ำ เพราะตั้งอยู่บนเนินเขา แล้วถ้ามาช่วงน้ำลดแบบเรา คือต้องเดิน
ๆๆๆ และขึ้นบันไดมาอีก หอบเลย ถึงจะไม่ถูกน้ำท่วม แต่บริเวณโดยรอบคือท่วมหมดเลยไม่สามารถเดินทางมาได้ถ้าไม่มีเรือ ทำให้วัดนี้ต้องย้ายไปด้วย
** คำเตือน : ที่นี่ยุงดุมากกกก ยืนนิ่งเป็นโดนกัด
วัดวังก์วิเวการามใหม่
ย้ายมาจากจุดเดิมที่ถูกน้ำท่วม ตั้งอยู่บนเนินสูง บริเวณสามประสบ (จุดที่แม่น้ำสามสายไหลมารวมกัน) สร้างขึ้นตามแบบศิลปะมอญและไทยประยุกต์
เจดีย์พุทธคยา
หากใครนั่งเรือเพื่อไปชมเมืองบาดาลจะต้องเห็นเจดีย์สีทองตั้งเด่นอยู่ เพราะเจดีย์พุทธคยานี้ตั้งอยู่ริมน้ำและห่างจากวัดวังก์วิเวการามหลังใหม่ประมาณ 1 กิโลเมตร การสร้างเจดีย์ได้จำลองมาจากเจดีย์พุทธคยาในประเทศอินเดีย เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุโดยหลวงพ่ออุตตมะได้อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา ด้านหน้าเจดีย์มีรูปปั้นสิงห์อยู่ 2 ตัว ยืนเฝ้าบันไดทางขึ้นเพื่อคอยปกป้องเจดีย์
การเดินทาง
เราเดินทางโดยรถยนต์จากกทม. ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
ค่าใช้จ่าย
• นั่งเรือชมวัด 1 วัด 300 บาท / 3 วัด 500 บาท มีหลายเจ้าให้บริการ เดินแถวๆสะพานมอญเดี๋ยวมีคนมาถามเอง คุยกับใครถูกใจเลือกใช้บริการได้เลยไม่ต้องกลัวว่าจะหาไม่เจอ ทุกเจ้าเรทราคานี้หมด **เรทราคาค่าบริการ (พ.ค.64) • ค่าเช่าชุด 50 บาท • ทิปไกด์ตัวน้อย 80 บาท (อันนี้แล้วแต่จะให้กี่บาท กี่คน) • ค่าที่พัก 700-2000 บาท
Commentaires